วรรณคดีวิเคราะห์และวรรณคดีวิจารณ์
ชื่อ นางสาวสุพัตรา เนตรเสนา รหัสนิสิต......๕๒๐๑๐๕๑๔๐๔๑..TH…..
ชื่อ นางสาวสุพัตรา เนตรเสนา รหัสนิสิต......๕๒๐๑๐๕๑๔๐๔๑..TH…..
หัวข้อ วิเคราะห์เรื่องสั้น..............................................................................................................................................
วิเคราะห์เรื่องสั้น เรื่อง กระแสธารแห่งกาลเวลา
ของ อัศศิริ ธรรมโชติ รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ปี ๒๕๒๔
๑. วิเคราะห์โครงเรื่อง
โครงสร้างของโครงเรื่อง
จุดวิกฤตของเรื่อง
ตอนดำเนินเรื่อง จุดคลี่คลายของเรื่อง
ตอนเริ่มเรื่อง ตอนจบเรื่อง
ข้อขัดแย้งคือ
๑. ระหว่างคนกับคน
๒. ระหว่างคนกับตัวเอง
๑. ตอนเริ่มเรื่อง กล่าวถึงเด็กชายที่มีฐานะไม่ค่อยดี เดินเท้าเปลือยไปโรงเรียน เด็กชายมีความฝันว่าเขาจะต้องเป็นครูที่ดี เพราะเขาเกลียดครูที่สอนเขา ครูเป็นครูใจร้าย เหลวไหล ดื่มเหล้า เขาจึงตั้งใจเรียนจนจบเป็นครู เกิดข้อขัดแย้งระหว่างคนกับคน
๒. ตอนดำเนินเรื่อง เมื่อเขาเป็นครูเขาก็ดื่มเหล้า และเมามาสอนนักเรียน เมื่ออยากกลับบ้านก็กลับ อยากสอนค่อยมาสอน และในตอนนี้เขาได้ฉุกคิดถึงเวลาที่ผ่านมา คร่ำครวญถึงพ่อที่เคยภูมิใจในตัวเขาถึงความฝันที่จะเป็นครูที่ดี กับสิ่งที่เขาเป็นในตอนนี้ เกิดข้อขัดแย้งระหว่างคนกับตัวเอง
๓. จุดวิกฤตของเรื่อง เขาเผชิญหน้ากับนักเรียนที่กำลังจะหนีเรียนตอนบ่ายโมง และเขาก็เพิ่งตื่นออกจากบ้านเป็นรอบที่สอง เขาพยายามจะพานักเรียนกลับไปยังโรงเรียนให้ได้ แต่เด็กให้เหตุผลว่า ไม่มีครูสอน จะกลับบ้านไปนอน
๔. จุดคลี่คลายของเรื่อง เด็กนักเรียนยอมกลับไปโรงเรียนกับเขา พร้อมน้ำตา
๕. ตอนจบเรื่อง เรื่องสั้นเรื่องนี้จบโดยการทิ้งปมปัญหาให้ผู้อ่านคิดต่อเอาเอง ว่ากระแสธารแห่งกาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงเขาไปเช่นไรอีก
“ในกระแสธารแห่งกาลเวลา” เป็นเรื่องราวของชายผู้หนึ่งที่มีฝันตั้งแต่เล็กว่าอยากจะเป็นครูที่ดี
เขาได้ฟันฝ่าอุปสรรคที่ยากลำบาก ต้องอดทน พยายาม กว่าจะได้เป็นครู แต่เมื่อเขาได้เป็นครูแล้ว เขาก็ไม่ได้ทำตนให้เป็นครูที่ดีอย่างที่พ่อแม่ นักเรียน หมู่บ้านอย่างที่เขาฝันไว้ “ในกระแสธารแห่งกาลเวลา” เรื่องสั้นเรื่องนี้ เหมือนจะตอกย้ำความจริงที่ว่า เมื่อเวลาเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างก็อาจเปลี่ยนไปได้
โครงเรื่องของ “กระแสธารแห่งกาลเวลา” จัดอยู่ในประเภทที่เป็นโครงเรื่องแบบเก่าที่เน้นถึงความสัมพันธ์ของเหตุการณ์และการลำดับเหตุการณ์ในเรื่องโดยมีตัวละครเป็นผู้เผชิญหน้ากับเหตุการณ์และสถานการณ์ต่างๆ อันเป็นปมปัญหาของเรื่องแล้วพัฒนาไปสู่จุดวิกฤต ก่อนจะคลี่คลายไปสู่จุดจบ จุดเด่นขอโครงเรื่องในเรื่องสั้นเรื่องนี้คือการสร้างข้อขัดแย้งหลัก ที่นำเอาความคิด ทัศนคติว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ตนเองกลับทำสิ่งนั้นเสียเอง ซึ่งส่งผลให้เกิดความเวทนาต่อตัวเองของ “ผู้ที่เคยคิดจะเป็นครูที่ดี” คือผู้เป็นตัวละครเอกของเรื่อง
ผู้เขียนได้วางพื้นนิสัยของผู้เป็นตัวละครเอกไว้อย่างเด่นชัด เพื่อเสริมให้ข้อขัดแย้งนั้นมีความเข้มข้นมากขึ้น คือให้เด็กชายที่ฝันอยากเป็นครูที่ดี ตั้งใจเรียน เพียรพยายาม พร้อมกับวางภาพครูที่สอนเขาว่าเป็นครูใจร้าย เหลวไหลเพราะกินเหล้า มานั่งหลับให้นักเรียนเห็นเสมอ จนเขาเรียนจบเป็นครู แต่เขาก็เป็นครูที่ครูของเขาเป็น ความขัดแย้งในตัวเขาเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถึงจุดตึงเครียด เพราะมีนักเรียนกำลังจะหนีโรงเรียนเพราะไม่มีครูสอน
แต่ด้วยความสำนึกที่เขาเป็นครู เขาจึงพยายามจะพาเด็กกลับโรงเรียน แทนที่ผู้เขียนจะให้เขาปล่อยเด็กกลับบ้านไปเพราะเขาก็เป็นครูที่ไม่ได้เรื่องเลยแต่กลับให้เขาพยายามพูดกับเด็กเพื่อที่จะพากลับโรงเรียน แต่ถึงอย่างไรในที่สุดเขาก็พาเด็กกลับมายังโรงเรียนจนได้
๒. วิเคราะห์ตัวละคร
ตัวละคร
ตัวละครเอก คือ เขา ผู้ซึ่งเป็นครูในตอนนี้
ตัวปฏิปักษ์ คือ ครูของเขาในวัยเด็ก
แบบของตัวละคร
- เป็นตัวละครที่มีหลายลักษณะมีความสมจริง
- เป็นตัวละครที่มีพัฒนาการ เรียนรู้ไปตามวัย
การสร้างตัวละคร
Character
- ทำอะไร/รู้สึกอย่างไร
ตัวละครรู้สึกเกลียดครูในวัยเด็กของเขา เพราะเป็นครูที่ไม่ดี เหลวไหล ดื่มเหล้า เขาจึงตั้งใจเรียนเพื่อที่จะมาเป็นครู
- ตัวละครอื่นรู้สึกต่อตัวละครตัวนั้นอย่างไร
นักเรียนของเขาหมดศรัทธาในตัวเขา ภรรยาของเขาไม่ใส่ใจในการกระทำของเขา รู้สึกชินชาต่อเขา
- ตัวละครพูดอะไรบ้าง
เขาบอกว่าจะเป็นครูที่ดี เขารำพึงเสมอว่า “ชาติที่ยิ่งใหญ่ของฉัน”
- ตัวละครนั้นดูเหมือนอะไร
เขาดูเหมือนครูของเขา ที่เขาเคยเกลียดในตอนเด็ก
ในเรื่องสั้น “กระแสธารแห่งการเวลา” ซึ่งมีตัวละครเอกเป็นครูผู้ชาย ที่เคยคิดจะเป็นครูที่ดี แต่เมื่อเขาได้เป็นครูเขากลับทำตัวไม่ดี เรื่องนี้ ผู้เขียนไม่ได้ให้ชื่อของตัวละครเอก แต่ใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งเรียกแทนว่า “ฉัน” ตลอดทั้งเรื่อง
ผู้เขียนนำเสนอความเป็น “ฉัน” ได้อย่างชัดเจน ทั้งจากการบรรยายผ่านการกระทำ พฤติกรรมในเหตุการณ์ต่างๆ รวมไปถึงการบรรยายสภาพความรู้สึกนึกคิด สลับกับการให้รายละเอียดและข้อมูลอันเป็นภูมิหลังในตอนที่มีการเล่าเรื่องย้อนหลัง จึงทำให้ภาพของ “ฉัน” ปรากฏอย่างชัดเจน
“ฉัน” ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ เป็นผู้มีทัศนคติที่ดี ตั้งใจเรียน พากเพียรจนเรียนจบเป็นครู เขาเป็นที่น่าภูมิใจของพ่อแม่ ของเด็กนักเรียน ของหมู่บ้าน ตัวละครเลือกที่จะเป็นครู ทั้งที่เขาเกลียดครูของเขา เขายึดแบบแผนที่ตรงข้ามกับครูของเขาเมื่อเขาเป็นครู แต่ทัศนคติที่ดีของเขาในอดีต กับการกระทำในวันนี้วันที่เขาเป็นข้าราชการของประเทศชาติมันช่างขัดแย้งกันเหลือเกิน ทำให้ตัวละครที่เป็นนักเรียนรู้สึกหมดศรัทธาในตัวของครู ทำให้ไม่อยากเรียน อยากกลับบ้านไปนอนพักผ่อนเหมือนที่ครูทำ ส่วนตัวละครที่เป็นภรรยาเมื่อสนทนากันก็พูดด้วยน้ำเสียงเรียบๆ เหมือนไม่ได้ใส่ใจในการกระทำผิดๆของสามี หรืออาจเป็นเพราะเธอชินชาเสียแล้ว ซึ่งผู้เขียนได้เน้นย้ำและให้รายละเอียดอย่างแจ่มแจ้ง ให้เห็นอำนาจของกาลเวลาที่สามารถพรากสิ่งที่เราหวงแหนและเก็บไว้มานานจากไปได้
๓. วิเคราะห์ฉาก
ฉากที่ปรากฏในเรื่อง
- ฉากที่เป็นธรรมชาติ คือ ทุ่งนาที่ร้อนอบอ้าว แห้งแล้ง
- ฉากที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ คือ บ้านเรือน โรงเรียน เสื้อผ้า ดินสอ หนังสือ
- ฉากที่เป็นช่วงเวลาหรือยุคสมัย คือ การลำดับเวลาตามปฏิทิน ตั้งแต่ตัวละครยังเด็กจนเป็นผู้ใหญ่
- ฉากที่เป็นสภาพการดำเนินชีวิตของตัวละคร คือ ตัวละครกินเหล้า เมามาสอนนักเรียน กลับบ้านไปนอนพัก เมื่ออยากสอนค่อยตานมาสอน
- ฉากที่เป็นสภาพแวดล้อมเชิงนามธรรม คือ อุดมการณ์ จิตวิญญาณ ค่านิยมของการรับราชการ คุณธรรมจริยธรรมของผู้เป็นครู
- สัญลักษณ์ คือ เท้าเปล่าบ่งบอกถึงฐานะยากจน สีกากีกับครู ธงชาติสีซีดอาจหมายถึงโรงเรียนที่ธุระกันดาร รูปถ่ายอาจเป็นสัญลักษณ์ของความทรงจำ ดินสอที่เหลาจนแหลมอาจหมายถึงความพร้อมที่จะเรียน
เรื่องสั้นเรื่อง “กระแสธารแห่งกาลเวลา” เริ่มต้นด้วยการใช้ฉากที่เด็กชายเดินเท้าเปล่า พร้อมดินสอที่เหลาจนแหลม หนังสือหัดอ่านที่เก่าพอๆกับเสื้อผ้าที่สวมใส่ไปโรงเรียน ท่ามกลางทุ่งนาที่แห้งแล้งและร้อนอบอ้าว และภาพของครูที่ใจร้าย เหลวไหล ฉากนี้แสดงให้เห็นถึงความลำบากแร้นแค้น ความจนมีความสัมพันธ์กับภาวะจิตใจของตัวละครเป็นอย่างมาก เป็นที่น่าสนใจคือช่วยเสริมให้ตัวละครที่ประสบอยากหนีจากสภาพนี้ อยากเอาชนะสภาพนี้ให้ได้ ขณะเดียวกันก็เปรียบเสมือนเครื่องทดสอบตัวตนของเขา ฉากที่เป็นโรงเรียนทำให้เขาเวทนาตนเองและสิ่งที่เขามักจะรำพึงว่า “ชาติที่ยิ่งใหญ่ของฉัน” เพราะเขาเป็นครูที่ไม่ได้เรื่องในโรงเรียนนี้ และเพราะถ้าไม่ใช่โรงเรียนแต่เป็นสถานที่อื่นเขาคงจะไม่รู้สึกแบบนี้อย่างแน่นอน รายละเอียดของฉากได้รับการนำเสนอผ่านการบรรยายของผู้เขียนไว้เป็นช่วงๆ
ฉากและบรรยากาศในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ไม่ได้ปรากฏในฐานะสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่ยังมีฉากที่เป็นนามธรรมอยู่ด้วย คือค่านิยมของการเป็นข้าราชการ ผู้ที่ได้รับราชการก็จะเป็นที่น่าภูมิใจของทุกคนรวมทั้งตัวเองด้วย และต้องเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรม แต่เขากลับไม่มี และฉากยังปรากฏตัวในลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์แทนภาวะจิตใจในตัวละครในสถานการณ์เข้มข้น การบรรยายให้เห็น “ทุ่งนาที่ร้อนอบอ้าว คละคลุ้งไปด้วยไอฝุ่น” ในตอนที่เขาเพิ่งออกจากบ้านตอนบ่ายโมงและกำลังย่ำเท้าฝ่ามันเพื่อไปสอนนักเรียน เปรียบเสมือน คุณธรรม จริยธรรมที่แล้งในจิตใจของผู้เป็นครู ความร้อนใจ ความขัดแย้งในหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่เหมือนทุ่งนา แต่การกระทำที่ไม่ดีก็เหมือนไอฝุ่นที่คละคลุ้งปะปนในทุ่งนาแห่งนั้น
๔. วิเคราะห์แก่นเรื่อง
“กระแสธารแห่งกาลเวลา” เป็นเรื่องราวของเด็กนักเรียนคนหนึ่ง ที่มีอคติกับครูของเขาเอง เขาจึงอยากจะเป็นครูเพื่อที่จะเป็นครูที่ดี ให้ต่างจากครูของเขา แต่เขามีฐานะไม่ค่อยจะสู้ดีนัก ด้วยความพากเพียรเขาเรียนจบละได้เป็นครู เมื่อเป็นครูใหม่ๆ เขาขยัน ตั้งใจ มีอุดมการณ์มุ่งมั่นในความเป็นครู และต่อมาเขาเริ่มที่จะทำตัวเหลวไหล กินเหล้า ไม่สอนนักเรียนเหมือนการกระทำของครูของเขาที่เขาเคยเกลียด
ความคิดสำคัญที่อัศศิริ ธรรมโชติ ต้องการเสนอก็คือ ความจริงที่ว่า เมื่อเวลาเปลี่ยน ทุกอย่างก็อาจเปลี่ยน ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ไม่เว้นแม้แต่ความคิดหรืออุดมการณ์ของคน
สิ่งที่อัศศิริ ธรรมโชติ นำเสนอเรื่องนี้ ไม่ใช่คำสอนเชิงศีลธรรมแต่เป็นการเปิดเผยให้เห็นธรรมชาติของมนุษย์ และสัจธรรมในการดำเนินชีวิตของสัตว์โลกผู้เขียนเป็นคนเข้าใจ และยังมองเห็นต่อไปอีกว่า แม้คนเราจะตระหนักรู้ในความเป็นจริงข้อนี้ แต่เราก็ยังปฏิบัติและกระทำอยู่ ดังเช่นเด็กชายที่เป็นครูในวันนี้ เขาเคยเกลียดครูที่เหลวไหล แต่เมื่อเวลาผ่านไปสุดท้ายเขากลับทำตัวแบบนั้นเสียเอง
๕. วิเคราะห์มุมมอง
ในเรื่องสั้น “กระแสธารแห่งกาลเวลา” ผู้เขียนเล่าเรื่องโดยผ่านมุมมองของผู้เล่าเรื่องเพียงคนเดียว คือ ผู้เล่าเรื่องที่ปรากฏตัวในฐานะตัวละครในเรื่อง ผู้เล่าเรื่องจะใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง คือ “ฉัน” ผู้เป็นตัวละครเอกของเรื่อง การดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ “ฉัน” เป็นผู้เล่าดำเนินเรื่องไปเพียงแค่มุมมองเดียว
ฉันรู้สึกว่าครูใจร้าย เพราะแกตีเด็กทุกคนที่ไม่ยอมมาเรียนและอ่านหนังสือไม่ออก เหลวไหลเพราะแกกินเหล้ามาสอนหนังสือจนเหม็นกลิ่นเมื่อเข้าใกล้ และมักจะนั่งหลับให้เด็กนักเรียนเห็นเสมอ ฉันจะต้องมีวิธีการที่ดีกว่าสำหรับการทำไม้เรียวจากก้านสนต่อเด็กที่ไม่ยอมเรียนและอ่านหนังสือไม่ได้ และฉันจะไม่ยอมกินเหล้ามานั่งหลับให้เด็กนักเรียนรังเกียจและแอบซุบซิบกัน
จะเห็นได้ว่า อัศศิริ ธรรมโชติ ใช้มุมมองเพียงมุมมองเดียวในการเล่าเรื่องสั้นเรื่องนี้ เหมือนกับเรื่องสั้นส่วนมาก
เมื่อพิจารณาน้ำเสียงของผู้แต่ง จะเห็นได้ว่า อัศศิริ ธรรมโชติ ใช้ “ฉัน” เป็นตัวถ่ายทอดนำเสียงและทรรศนะของผู้เขียนค่อนข้างมาก ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ “ฉัน” หรืออาจบอกได้ว่า ตัวละครในเรื่องเขาไม่เห็นด้วยกับการกระทำของตัวเขาเอง เขามีความขัดแย้งในตัวเอง ทั้งในเรื่อง กินเหล้า สอนนักเรียน เสมือนผู้เขียนกำลังเวทนาในการศึกษาของประเทศชาติ
๖. วิเคราะห์ลีลาการเขียนและท่าทีของผู้แต่ง
เรื่องสั้น “กระแสธารแห่งกาลเวลา” เป็นเรื่องสั้นที่มีจุดเด่นมากในการแสดงอารมณ์และความรู้สึกในเชิงประชดประชันต่อสภาพชีวิตและการศึกษาในสภาพชนบทของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำของครูผู้เป็นแบบอย่างกับนักเรียน จุดเด่นของเรื่องสั้นเรื่องนี้ นอกจากจะเป็นการสะท้อนภาพความเป็นจริงในสังคมได้อย่างน่าสนใจแล้วยังอยู่ที่ลีลาการเขียนและการใช้ภาษาซึ่งแสดงให้เห็นความรู้สึก และนำเสียงของผู้เขียนได้อย่างชัดเจน
ท่วงทำนองหรือลีลาการเขียนของ อัศศิริ ธรรมโชติ ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ เป็นการเล่นกับเสียงและภาษาอย่างเต็มที่ การใช้รูปประโยคสั้นๆ ตรงไปตรงมาแบบภาษาพูดของเด็กก็ดี ดังคำพูดที่ว่า “ครูเมามาแต่เช้าอีกแล้ว” เป็นการสร้างบรรยากาศของเรื่องให้เข้มข้น มีความสมจริง การใช้ประโยคในรูปของการบรรยายที่ว่า “ดินสอที่เหลาจนแหลมแล้วแท่งหนึ่ง หนังสือหัดอ่านที่เก่าพอกับกางเกงเสื้อผ้า” และการใช้ประโยคในรูปของคำพูดที่ว่า “ชาติที่ยิ่งใหญ่ของฉัน” คำพูดเหล่านี้ช่วยทำให้เกิดความรู้สึกร่วมและเห็นน้ำเสียงในการประชดประชันการศึกษาของประเทศชาติได้อย่างชัดเจน
อัศศิริ ธรรมโชติ จัดได้ว่าเป็นนักเขียนที่มีความสามารถในการบรรยายอย่างเห็นภาพพจน์ แสดงถึงความเป็นคนช่างสังเกต ทั้งที่ช่วงเวลาผ่านไปก็มีบางสิ่งที่เปลี่ยนและมีบางสิ่งยังคงเดิมอยู่ ดังเช่นตอนที่เขาบรรยายว่า “สองขีดเล็กๆ บนบ่าสองข้าง ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นสีทองเด่น...กระแสธารแห่งกาลเวลานั่นแหละที่ทำให้มันซีด จนเดี๋ยวนี้มองไม่มีสีอีกต่อไป” และตอนที่ว่า “รูปถ่ายของพ่อสีซีด เหลืองแห้งด้วยการเวลานั้น มีนัยน์ตาสีเดียวกันจ้องตอบมายังฉัน หลับตา ภาพของพ่อก็ตามมา จากนั้นฉันยังต้องอุดหูเพื่อไม่ให้เสียงของพ่อดังขึ้น” จะเห็นได้ว่าประโยคเหล่านี้ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจน
มีเนื้อเรื่องด้วยไหมค้ะ
ตอบลบอยากได้เนื้อเรื่องครับ
ตอบลบอยากได้เนื้อเรื่องครับ
ตอบลบ