วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การจัดกิจกรรมแบบ BBL

การจัดกิจกรรมแบบ BBL คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดโดยใช้สมองเป็นฐาน หลักจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดโดยใช้สมองเป็นฐานเป็นการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นการจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีสมาธิเพื่อเตรียมความพร้อม อาจทำ Brain Gym โดยการทำสมาธิ เล่าเรื่อง ออกกำลังกาย ฯลฯ แล้วให้นักเรียนได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติจริง รู้จักฝึกฝน ศึกษาค้นคว้าสร้างองค์ความรู้หรือผลงานโดยการร่วมคิดร่วมทำและยังมีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกฝนความสามารถหรือทักษะ  มีขั้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 8 ขั้น ซึ่งได้มาจากแนวคิดทั้ง 5 แนวคิดคือ การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มุ่งให้ผู้เรียนได้รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้วยกระบวนการศึกษาค้นคว้าต่างๆ การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ ผู้เรียนได้ร่วมมือกันศึกษาค้นคว้าจนได้ความรู้และผลงาน การเรียนรู้โดยใช้แผนผังความคิดช่วยส่งเสริมการคิดวิเคราะห์และการคิดสังเคราะห์ทำให้เข้าใจและจำเรื่องที่เรียนได้ การจัดกิจกรรมโดยใช้เกมส่งเสริมให้ผู้เรียนร่วมมือกันเรียนรู้สูงสุดเพื่อชัยชนะของกลุ่ม และการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานเป็นการสอนย้ำ ซ้ำ ทวน ด้วยกิจกรรมหลากหลาย โดยมุ่งให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างเป็นระบบด้วยตนเอง ซึ่งทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ถาวร ซึ่งผู้เขียนได้นำมาจัดเป็นขั้นการจักกิจกรรม 8 ขั้น ดังต่อไปนี้
1.      ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เป็นขั้นที่ครูวางแผนในการสนทนากับนักเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมให้เข้าใจในสิ่งที่จะเรียนและสามารถเชื่อมโยงไปสู่เรื่องที่จะเรียนได้
2.      ขั้นตกลงกระบวนการเรียนรู้ เป็นขั้นที่ครูและนักเรียนร่วมกันตกลงว่านักเรียนจะต้องกิจกรรมใดบ้างอย่างไร และจะมีวิธีการวัดและประเมินผลอย่างไร
3.      ขั้นเสนอความรู้ เป็นขั้นที่ครูจะต้องเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมของนักเรียน มาสร้างองค์ความรู้ใหม่ คือการสอนหรือการสร้างความคิดรวบยอดให้แก่นักเรียนจนเกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เรียน
4.      ขั้นฝึกทักษะ เป็นขั้นที่นักเรียนเข้ากลุ่มแล้วร่วมมือกันเรียนรู้และสร้างผลงานในขั้นนี้คำว่า ฝึกทักษะ หมายถึงการศึกษาค้นคว้า การฝึกปฏิบัติการทดลอง การสังเกตจากสิ่งแวดล้อม แหล่งเรียนรู้ต่างๆ การทำแบบฝึก การวาดภาพ และการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ จนประสบผลสำเร็จได้ผลงานออกมา (ผลงานควรชัดเจน น่าสนใจ ซึ่งไม่ใช่ใส่กระดาษ A4หรือกระดาษแผ่นเล็กๆ แต่ควรเป็นกระดาษขนาดใหญ่ เช่นประดาษปรู๊ฟเพื่อใช้นำเสนออาจเป็นการเขียนธรรมดาหรือเป็นแผนผังความคิด)
5.      ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นขั้นที่ตัวแทนแต่ละกลุ่มที่ได้จากการจับสลากออกมานำเสนอผลงาน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ที่ต้องจับสลากเพื่อให้คนเก่งได้ฝึกฝนคนปานกลาง และคนอ่อนให้มีความรู้ใกล้เคียงกับตนเอง)
6.      ขั้นสรุปความรู้ เป็นขั้นที่ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปความรู้แล้วให้นักเรียนทำใบงานเป็นรายบุคคลแล้วเปลี่ยนกันตรวจ โดยครูและนักเรียนร่วมกันเฉลย ให้นักเรียนแต่ละคนปรับปรุงผลงานตนเองให้ถูกต้อง ครูรับทราบและเก็บผลงานไว้ในแฟ้มสะสมงานของตนเอง
7.      ขั้นกิจกรรมเกม เป็นขั้นที่ครูจัดทำข้อสอบมาให้นักเรียนทำเป็นรายบุคคล โดยไม่ซักถามกัน เสร็จแล้วส่งเป็นกลุ่มแล้วเปลี่ยนกันตรวจเป็นกลุ่ม โดยครูและนักเรียนร่วมกันเฉลย ให้แต่ละกลุ่มหาค่าคะแนนเฉลี่ย บอกครูบันทึกไว้แล้วจึงประกาศผลเกม กลุ่มใดได้คะแนนเฉลี่ยสูงที่สุดเป็นกลุ่มชนะเลิศ
8.      ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้เป็นขั้นที่ครูมอบหมายงานให้นักเรียนทำเดี่ยว เป็นคู่หรือเป็นกลุ่มก็ได้ โดยให้นำหัวข้อหรือประเด็นที่นักเรียนอยากรู้ไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมโดยจัดทำเป็นผลงาน อาจเป็นโครงงาน แผนผังความคิดหรือรายงานในรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ด้วยการสืบเสาะหาความรู้
การจัดกิจกรรมทั้ง 7 ขั้นตอนนี้ เป็นการประสมประสานระหว่างการใช้กระบวนการกลุ่ม แผนผังความคิด ใบงานและเกม เป็นหลักการที่มุ่งให้ผู้เรียนได้ลงมือทำเอง ได้ฝึกฝนซ้ำในเรื่องเดิมทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และจดจำได้แม่นยำ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและยังสอดคล้องกับหลักการเรียนของ B B  L (Brain Based Learning) คือการเรียนเรื่องเดิมโดยให้นักเรียนร่วมกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้แม่นยำและจำได้นาน การจัดกิจกรรมเช่นนี้ควรใช้เวลาต่อเนื่อง ไม่ควรเรียนครั้งละ 1 ชั่วโมง กิจกรรมทั้ง 7 ขั้นนี้ อาจต้องใช้เวลาสอนประมาณ 3 ชั่วโมง ครูสามารถปรับกิจกรรมโดยลดหรือเพิ่มและปรับใช้สื่อได้อย่างกลากหลาย ซึ่งครูสามารถยืดหยุ่นการบวนการเรียนรู้ได้ตามความเหมาะสมของเนื้อหาสาระในกลุ่มประสบการณ์ต่างๆ ผู้สอนสามารถนำแนวคิดโดยใช้สมองเป็นฐานไปใช้ในกิจกรรมการเรียนรู้ ไปใช้สอนได้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ทุกเนื้อหาวิชาและทุกช่วงชั้น